วันพฤหัสบดีที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

วิธีการใส่ปุ๋ยมะละกอฮอนแลนด์

คุยกันเรื่อง....การให้ปุ๋ย…มะละกอ
มาแชร์ประสบการณ์เรื่องนี้กันนะคะ

หนึ่งเขียนเรื่องนี้เพื่อต้องการแชร์ประสบการณ์กันค่ะ ซึ่งก็เป็นความตั้งใจตั้งแต่แรกที่หนึ่งตั้งกลุ่มขึ้นมา เพื่อต้องการให้คนที่สนใจปลูกมะละกอได้ประโยชน์ ช่วยเหลือกัน แต่ไม่ใช่เวทีที่จะแข่งกันเก่งค่ะ หนึ่งเปิดแนวคิดหนึ่งก่อนนะคะ เพื่อนๆคิดยังไงมาแชร์กันได้ค่ะ

มะละกอเป็นพืชที่ต้องการปุ๋ยมากพืชหนึ่งเพราะมะละกอให้ผลเต็มต้น เก็บเกี่ยวยาวนาน แต่ในประเทศไทยยังไม่ค่อยมีการทดลองการใช้ชนิดของปุ๋ยและอัตราการใส่อย่างเด่นชัด งานวิจัยในต่างประเทศมีการวิเคราะห์ความต้องการปุ๋ยของมะละกอโดยวิเคราะห์จากปริมาณธาตุอาหารที่มะละกอนำไปใช้กับผลผลิตที่เก็บออกจากสวน พบว่า มะละกอใช้โปรแตสเซียมมากที่สุดหรือมีความต้องการโปรแตสเซียมมากที่สุด โดยมีสัดส่วนความต้องการโปรแตสเซียม:ไนโตรเจน:ฟอสฟอรัส = 2.5.2.5:1 มะละกอใช้โปรแตสเซียมเพียง 170 กรัม/ต้น/ครั้ง ไนโตรเจน 170 กรัม/ต้น/ครั้ง ฟอสฟอรัสเพียง 70 กรัมเท่านั้น ตัวเลขนี้เพียงจะบอกว่า มะละกอมีความต้องการฟอสฟอรัสน้อยมากเท่านั้นค่ะ การใส่ปุ๋ยไม่มีสูตรสำเร็จขึ้นกับสภาพโครงสร้าง ความสมบูรณ์ของดินและความสมบูรณ์ของต้นมะละกอ
หากเรามาวิเคราะห์การให้ปุ๋ยมะละกอของชาวสวนที่ทำมะละกอดกๆ จะเห็นได้ว่า หากมีการให้ปุ๋ยที่เพียงพอ มะละกอก็สามารถติดดกได้ไม่ยากเลย นั่นหมายความว่า การให้ปุ๋ยมะละกอก็ใช้หลักการพื้นฐานความต้องการปุ๋ยในไม้ผลทั่วไปมะละกอก็ดกได้ ปุ๋ยในมะละกอไม่ได้ซีเรียสอะไรมาก ความดกของมะละกอพื้นฐานที่สำคัญที่สุดอยู่ที่สภาพโครงสร้างและความสมบูรณ์ของดินซึ่งจะทำให้ปุ๋ยเคมีที่ใส่ลงดินถูกนำไปใช้ประโยชน์ได้มากที่สุด ดังนั้นหากมีการปรับปรุงโครงสร้างดินที่ดี มะละกอก็ดกได้ไม่ยากค่ะ
หลักพื้นฐานของการใส่ปุ๋ยในมะละกอง่ายๆ เริ่มให้ปุ๋ยได้เป็นครั้งแรกเมื่อต้นกล้าตั้งตัวได้ หลังลงแปลง 15-20 วัน โดยให้ปุ๋ยที่มีธาตุไนโตรเจนสูง เพื่อเร่งการเจริญเติบโต ปุ๋ยควรใส่อัตราประมาณหนึ่งช้อนชาต่อต้นในช่วงแรกโดยใส่รอบๆ สุดปลายใบ การใส่ปุ๋ยในครั้งต่อไปก็ใส่ทุกๆ 10-15 วันต่อครั้ง ช่วงแรกเน้นตัวหน้าสูงอย่าง 25-7-7 เมื่อมะละกอเริ่มออกดอกจะเพิ่มโปรแตสเซียมเพิ่มขึ้น เช่น 14-7-35 หรือ 15-5-20 หรือ 21-7-14 หรือชาวสวนส่วนใหญ่ที่ใช้ 16-16-16 ในช่วงแรก และมาใช้ 8-24-24 หรือ 13-13-21 สลับหลังจากที่มะละกอเริ่มติดดอกและออกผล มะละกอก็ดกได้เช่นกัน เพียงแต่การใส่ฟอสฟอรัสที่สูงเกินไปจะเป็นการสิ้นเปลืองโดยไม่จำเป็นเท่านั้นเองและอาจมีผลต่อการดูดธาตุอาหารชนิดอื่น เช่น แคลเซียม โบรอนได้ ซึ่งเป็นธาตุอาหารเสริมที่มะละกอมีความต้องการและมีโอกาสขาดได้เช่นกัน
ปริมาณการให้ก็ประมาณ 10-20 กก./ไร่(200-250 ต้น) ในช่วงต้นเล็ก และเพิ่มเป็น 30-50 กก./ไร่ ในช่วงที่ให้ผลผลิตหรือเก็บผล ถ้ามะละกอได้รับปุ๋ยไม่เพียงพอ ผลจะเล็ก อัตราการขยายของเซลล์หรือขยายขนาดผลจะน้อย หากเน้นปุ๋ยที่มีฟอสฟอรัสและโปแตสเซียมสูงเกินไปแต่ไนโตรเจนน้อยเกินไปผลมะละกอปลายผลจะแหลมเราก็สามารถแก้ได้ด้วยการเพิ่มสัดส่วนของไนโตรเจนให้มากขึ้นได้ หรือหากมีการให้ปุ๋ยที่มีฟอสฟอรัสสูงเกินไปต้นจะเตี้ย เพราะข้อจะถี่ ผลจะชี้ ปลายผลจะแหลม ต้องเพิ่มสัดส่วนของไนโตรเจนเช่นกัน ด้วยความที่มะละกอเป็นพืชอายุยืนการใส่ปุ๋ยจึงสามารถปรับสัดส่วนของปุ๋ยตามสภาพการเจริญของมะละกอได้ไม่ยาก
นอกจากธาตุหลักแล้วธาตุอาหารเสริมที่มะละกอมีความต้องการและมีโอกาสขาดก็มีเพียงแคลซียม-โบรอนซึ่งมะละกอจะมีความต้องการสูงตั้งแต่ช่วงออกดอกติดผล ซึ่งจะช่วยส่งเสริมการออกดอกติดผลให้ดีขึ้น ดกขึ้น ทำให้คุณภาพของผลดีขึ้น เช่น ความแน่นเนื้อ ความหวาน เนื้อแดงรวมทั้งการเก็บรักษาไว้ได้นาน ไม่เน่าง่าย โดยมะละกอมีโอกาสขาดโบรอนได้เช่นกัน ซึ่งจะทำให้ผลบิดเบี้ยว ตะปุ่มตะป่ำ เกิดยางไหลสีขาวเป็นทาง เนื้อไม่แดง รวมทั้งเมล็ดไม่แก่หรือเมล็ดมีสีขาว เป็นต้น จึงควรมีการให้แคลเซียม-โบรอนอย่างสม่ำเสมอเพราะแคลเซียมจะทำงานสัมพันธ์กับโบรอนเสมอ โดยมีการพ่นทุก 7-10 วัน เพราะมะละกอออกดอกติดผลต่อเนื่อง ธาตุตัวอื่นต้องการน้อยมากค่ะ ไม่จำเป็นต้องพ่นให้สิ้นเปลืองค่ะ
นอกจากนี้ควรจะมีการใส่ปุ๋ยอินทรีย์อย่างต่อเนื่องโดยแบ่งใส่ 3-4 ครั้ง ในระยะ 1 ปี แบ่งใส่ครั้งละประมาณ 3-5 กิโลกรัมต่อต้น

1 ความคิดเห็น:

  1. สวัสดีครับ รบกวนขอ อีเมลล์หรือไลน์ไอดี เพื่อขอข้อมูลเกี่ยวกับการปลูกมะละกอเพื่มเติมได้ไหมครับ

    ตอบลบ